ถึงสหายธรรมทั้งใกล้และไกล
เมื่อพระอาทิตย์ส่องแสง ความมืดก็จะมลายไป เราก็เห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน ปัญญา (สันสกฤตเรียก ปรัชญา) ก็เป็นดุจแสงอาทิตย์ ทำให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน ถ้าเรายังไม่เข้าใจความสำคัญรากฐานของจิต ก็แสดงว่าปัญญายังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเราเกิดปัญญาแล้ว จำเป็นที่จะต้องดำรงปัญญาไว้ให้มั่นคงเพื่อที่เราจะได้ฝึกสมาธิและปฏิบัติอื่นๆ ต่อไป
จิตเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เมื่อฝึกจิตให้มีโพธิจิต (จิตแห่งการตรัสรู้) เราจำเป็นต้องมีความกรุณา และก็เช่นเดียวกับปัญญา ความกรุณาของเราก็จำเป็นต้องมั่นคงและเปิดกว้างดุจท้องฟ้าที่ไพศาล ไม่เปลี่ยนแปร หากความกรุณาไม่มั่นคง มันจะหวั่นไหวไปตามสถานการณ์ได้ง่าย เพราะฉะนั้น การจะฝึกความกรุณาของเราให้มั่นคงได้นั้น เราต้องตั้งใจฝึกฝนความกรุณา พิจารณาถึงประโยชน์ สร้างความมั่นใจและศักดิ์ศรีให้เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ฝึกสมถะ (สมาธิ) และอื่นๆ ด้วย
ไม่ว่าเราจะทำอะไร จะเป็นการปฏิบัติธรรมหรือกิจกรรมทางโลกก็ตาม เราจำเป็นต้องใช้ปัญญาพิจารณาลงไปให้ถึงแก่นแท้ของเรื่องนั้น ให้เข้าใจประเด็นหลักๆ ที่มาของความสุขและความทุกข์ก็อยู่ที่จิตนั่นเอง การจะเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ เราต้องมีปัญญาอันสว่างประดุจแสงอาทิตย์ ในขณะเดียวกัน เราควรหลีกเลี่ยงการตัดสินให้คุณค่าด้วย เพราะปัญญาที่คอยตัดสินสิ่งต่างๆ นั้นอันตรายมาก เราต้องสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น แต่ก็ต้องลดการตัดสินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ท่านโญชูล เคน รินโปเช ผู้ล่วงลับไปแล้วและเป็นปฐมคุรุของข้าพเจ้า เคยอธิบายว่าการเป็นชาวพุทธ (ทิเบตเรียกว่า “นังปะ” แปลตามตัวอักษรว่า “คนใน”) หมายถึงการเข้าใจว่าต้นเหตุของความสุขและความทุกข์ สังสารวัฏและนิพพาน จิตตื่นรู้และอวิชชา โมหะและปัญญา ประโยชน์และโทษ และอื่นๆ ล้วนมาจากจิต (อยู่ข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก)
พวกเราล้วนเป็นผู้ศึกษาพุทธธรรม บางคนก็กำลังศึกษาและสำรวจคำสอนทางพุทธ บางคนก็กำลังปฏิบัติอยู่ บางคนก็ปฏิบัติไปหลายปีแล้ว ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา คุณสมบัติหลัก 2 ประการที่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นก็คือปัญญาและความกรุณา ปัญญาและความกรุณาที่กว้างใหญ่ไพศาลและแน่นอนดุจแผ่นฟ้า มั่นคงดุจขุนเขา และสว่างดุจดวงอาทิตย์
ข้าพเจ้าส่งข้อพิจารณาสั้นๆ นี้มาจากกรุงเดลีหลังจากที่เพิ่งเสร็จสิ้นการสวดมนต์รอบเช้า
ด้วยอธิษฐานจิตและระลึกถึงพวกท่านทุกคน
- จับกน พักชก รินโปเช