สาสน์เนื่องในวันที่ระลึกคุรุปัทมสมภพประจำเดือนตุลาคม (ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2557)

สวัสดีสหายธรรมทั้งใกล้และไกล

วันนี้ ข้าพเจ้าคิดถึงเธอทุกๆ คน และหวังว่าเธอก็คงจะระลึกถึงประโยชน์ของสรรพสัตว์ในจิตใจอยู่เสมอ ข้าพเจ้าเพิ่งเสร็จจากภารกิจการสอนและบรรยายธรรมที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียน่า ซึ่งก็เท่ากับเสร็จสิ้นภารกิจในสหรัฐอเมริกา อีกไม่นาน ข้าพเจ้าก็คงจะได้เดินทางไปเยี่ยมพี่น้องทางธรรมในแถบเอเชียต่อไป

สำหรับวันที่ระลึกคุรุปัทมสมภพนี้ ข้าพเจ้าอยากจะเสนอคลิปคำสอนที่ข้าพเจ้าได้บรรยายไว้ที่วัดเดรปุง โลเซลิง ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ซึ่งหัวข้อสำคัญได้พูดถึงความหมายของคำว่า “การบรรลุธรรม” เพราะคำคำนี้มักจะฟังดูเป็นนามธรรมเกินไปสำหรับพวกเรา ส่วนหัวข้อรองก็เป็นการพูดถึงพื้นฐานของโพธิจิต และวิธีฝึกโพธิจิตด้วยสติ

เพื่อไม่ให้เป็นการลืมสิ่งที่เรียนรู้จากคำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าขอให้ท่านหมั่นฝึกฝนด้วยความเพียร และตั้งใจฝึกฝนให้ดีด้วยความชัดเจนแจ่มแจ้ง

ขออำนวยพร
สรรพมงคลจงบังเกิดมี

– ท่านพักชก รินโปเช

รับชมวีดีโอได้ ที่นี่
(สรุปใจความจากคลิปคำสอน)

ปรมาจารย์หลายๆ ท่านเป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว การบรรลุธรรมหมายความว่าท่านไม่มีการตัดสินอะไรทั้งนั้น ไม่มีกิเลสไม่ว่าจะต่อสิ่งไหนหรือต่อใครทั้งนั้น และโดยเฉพาะไม่ทำอะไรเพื่อตัวเอง ไม่สนใจผลประโยชน์ทางโลกอีกแล้ว นี่ก็คือผู้บรรลุธรรม คือไม่คิดถึงตัวเอง

บางครั้ง พอพูดถึงการบรรลุธรรม เรามักจะเกิดความรู้สึกว่ามันเป็นนามธรรม เหมือนภาพเขียนแอ็บสแตร็ค ที่เราต้องพยายามดูแล้วดูอีก ต้องตีความ ทำความเข้าใจ แต่ละคนก็จะตีความและรู้สึกไปตามความคิดของตน สร้างเรื่องราวไปตามความรู้สึกของตัวเอง แต่ถ้าเป็นภาพที่วาดตามแบบแผน เราไม่ต้องดูมาก เราจะรู้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร เพราะภาพที่เห็นก็ชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึงสติ การฝึกจิต ความเมตตากรุณา ใครๆ ก็รู้ความหมายดี ไม่เป็นนามธรรมมากนัก แต่ถ้าพูดถึงการบรรลุธรรม เรามักจะรู้สึกเคว้งคว้าง ต้องมานึกภาพว่าการบรรลุธรรมนี่เป็นยังไง เพราะฉะนั้นจึงต้องมาทำความเข้าใจ ว่าหมายถึงการไม่ตัดสินสิ่งใด ไม่มีกิเลสมลทินอย่างความโกรธ อิจฉา และอื่นๆ การบรรลุธรรมยังหมายถึงไม่ทำไปเพื่ออัตตา ใครที่เป็นอย่างนี้ก็แสดงว่าบรรลุแล้ว แต่ถ้าใครที่ยังทำเพื่อประโยชน์ของตนเองอยู่ นั่นแสดงว่ายังไม่บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ บางครั้งขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนา เราอาจจะหลงลืมอัตตาได้ชั่วครู่ นั่นก็คือเราบรรลุแค่ชั่วครู่ หลังจากนั้นเมื่อเราคิดถึงตัวเองอีก เราก็กลับไปเป็นสรรพสัตว์ที่ยังไม่บรรลุอีก นี่แหละคือการทำความเข้าใจในเรื่องการบรรลุธรรม

มีคนถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติภาวนาก็มีอยู่ 3 อย่างที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอ ซึ่งถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ ในพระสูตรและในคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้แต่ในคำสอนตันตระพิเศษก็มี หนึ่งคือ โพธิจิต สองก็คือ คุรุโยคะ และสามคือ การพิจารณาธรรมชาติของจิต 3 อย่างนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในแง่ของความเมตตากรุณา และการตั้งปณิธาน โพธิจิตก็คือจุดสำคัญของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า ทีนี้ในระดับจิตใจ การอุทิศตน คุรุโยคะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ แต่ถ้าเราอยากจะบรรลุธรรม คือไม่ตัดสินอะไรทั้งนั้น ไม่มีกิเลส ถ้าอยากจะลดอัตตา ลดการคิดถึงประโยชน์ส่วนตน เราก็ต้องภาวนาในเรื่องธรรมชาติของจิต พิจารณาให้เห็นธรรมชาติของจิต 3 อย่างนี้สำคัญมาก ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่พยายามทำ 3 เรื่องนี้ให้ได้ก็ดีมากแล้ว

ทีนี้ ปัญหาอยู่ตรงที่เรามักจะลืมปฏิบัติ เพราะฉะนั้นในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเน้นการสอนให้มีสติ การฝึกฝนสติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าแค่มีสติในขณะนี้ก็พอ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายความแค่นั้น การมีสติหมายความว่า เมื่อเข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์แล้ว ก็ให้ระลึกนำไปปฏิบัติอยู่เสมอ เช่นเมื่อมีผู้ถามว่า “โพธิจิตคืออะไร” ก็อธิบายง่ายๆ ได้ว่า “ขอให้สรรพสัตว์พ้นจากทุกข์ พ้นจากเหตุแห่งทุกข์ และบรรลุการรู้แจ้ง” นี่ก็คือโพธิจิต ง่ายๆ แค่นี้เอง ครึ่งแรกคือความเมตตากรุณา ครึ่งหลังก็คือเรื่องของปัญญา แล้ววิธีปฏิบัติให้เกิดโพธิจิตล่ะ ขั้นแรกก็ให้คิดว่า “ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย พ้นจากทุกข์ พ้นจากเหตุแห่งทุกข์ และได้บรรลุธรรม” ขั้นต่อไปก็คือ เมื่อคิดแล้วก็ให้ตอกย้ำเข้าไปเป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้น เวลาพูดว่า “ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายพ้นทุกข์…” (เราอาจเกิดคำถามว่า) ทำไมเราจะต้องไปห่วงใยสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเรา สรรพสัตว์ล้วนเกี่ยวข้องโยงใยซึ่งกันและกัน

เอาละ อันที่จริง ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักพวกท่านทุกคน และหลายๆ คนในที่นี้ก็ยังไม่รู้จักข้าพเจ้า ก็เพราะมีสิ่งหนึ่งที่ขวางกั้นอยู่ เรียกว่า แนวแบ่งแยกของอัตตา แต่ถ้าเราคิดว่า เมื่อชาติที่แล้วๆ มา ท่านอาจจะเคยเกิดเป็นแม่ของข้าพเจ้า หรือเมื่อหลายๆ ชาติในอดีต ข้าพเจ้าอาจจะเคยเกิดเป็นแม่ของท่านมาก่อน แนวแบ่งแยกอันนี้ก็จะเบาบางลง ขอให้คิดแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อก็ได้ แค่คิดแบบนี้เฉยๆ ขอให้ลองดู ไม่ถึงกับต้องเชื่อ แต่แค่ลองคิดแบบนี้ดู ก็จะทำให้รู้สึกว่าความเมตตากรุณาของเราจะเกิดได้ง่ายขึ้น

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องความทุกข์ วันนี้ ข้าพเจ้าอยากจะอธิบาย เตือน ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้ท่านเอาไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเอง ความทุกข์คืออะไร ก็คือความไม่สบายทางกาย พอกายไม่สบาย ใจก็เริ่มไม่สบายไปด้วย เกิดอารมณ์ทุกข์ อาจจะเป็นทุกข์เรื่องครอบครัว ความสัมพันธ์กับคนอื่น สิ่งที่อยากได้แล้วไม่ได้ สิ่งที่ไม่อยากได้ไม่อยากเป็นก็เจออยู่บ่อยๆ ทั้งหมดนี้แหละคือส่วนหนึ่งของความทุกข์ ความลำบาก เป็นปัญหา ข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้พวกท่านประสบความทุกข์แบบนี้ แต่แค่นี้พอแล้วหรือ ยังไม่พอ ยังมีเหตุแห่งทุกข์อีก เหตุแห่งทุกข์คืออะไร สำหรับข้าพเจ้า สำหรับท่าน ก็คือการคิด (ท่านทำหน้ามุ่ยแล้วชี้ที่หน้าตัวเอง) คือความคิดที่ไม่ดี เราโกรธ ความโกรธทำให้ชีวิตเราทุกข์ เราขอให้สรรพสัตว์ทั้งปวงพ้นจากทุกข์ พ้นจากเหตุแห่งทุกข์ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ เมื่อตั้งความปรารถนาเช่นนี้ ก็ทำให้เราเชื่อมโยงตัวเองกับเหล่าสรรพสัตว์ได้ทันที

เหตุแห่งทุกข์ก็คืออารมณ์ที่เป็นพิษ และการยึดอัตตา คิดถึงแต่เรา เรา เรา เรา เรา เรา เรา เรา จริงๆ นะ ขอให้คิดดูให้ดีๆ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา ก็คิดถึงแต่เรา เรา เรา เรา เรา เราจะยังงั้น เราจะยังงี้ เรา เรา เรา คิดแล้วก็น่าขำ แทนที่จะคิดถึง “เรา” (ท่านทำท่าจับ) เรา เรา เรา เรา เรา ก็ให้มาคิดว่า (ทำท่าประนมมือ) ขอให้สรรพสัตว์พ้นจากทุกข์ พ้นจากเหตุแห่งทุกข์ และขอให้บรรลุธรรมด้วยกันทั้งสิ้น

บรรลุธรรม คืออะไร ก็คือไม่ยึดมั่นในอัตตาเลย ไม่มีอารมณ์จากกิเลสเลย พ้นไปแล้ว (จากอกุศล) ขอให้เรานึก ขอให้ปฏิบัติภาวนาแบบนี้ ขอให้ตระหนักแบบนี้ เช่น เวลาดื่มน้ำ (ท่านหยิบน้ำขึ้นมาดื่ม) ก็ขอให้นึกว่า เราจะดื่มน้ำด้วยปณิธานเช่นนี้ เวลาไปทำงาน ก็ทำงานด้วยปณิธานเช่นนี้ เวลากิน ก็กินอาหารพร้อมกับตั้งปณิธานแบบนี้ เวลาอาบน้ำ ก็ให้นึกถึงปณิธานนี้ พอถึงเวลานอน ก็เข้านอนด้วยการนึกถึงปณิธานนี้อีก

Posted in คำสอนเนื่องในวัน คุรุปัทมสมภพ.