ประวัติของท่านพักชก รินโปเช

    ท่านพักชก รินโปเช (Kyabgön Phakchok Rinpoche) ถือกําเนิดในปี พ.ศ.2524 ท่านเป็นหนึ่งในผู้นําทางจิตวิญญาณ (ภาษาทางการ: ผู้ดำรงตำแหน่งสังฆราชของนิกาย) ของสายการปฏิบัตินิกาย ตักลุง การ์จู โดยได้รับตรวจสอบและแต่งตั้งจากทั้งผู้สําเร็จราชการของนิกายการ์จู และจากสมเด็จทะไลลามะที่ 14

   สายการปฏิบัติตักลุง การ์จู เป็นหนึ่งในแปดสายการปฏิบัติย่อยของ นิกายการ์จู ซึ่งนิกายการ์จูเองก็เป็นหนึ่งในสี่นิกายหลักของพุทธทิเบต ท่านรินโปเชยังเป็นเจ้าอาวาสของวัดอีกหลายแห่งในประเทศเนปาล โดยเฉพาะที่สําคัญคือท่านเป็นวัชรจารย์ของวัดกาณิง เชดรุป ลิง (Ka-Nying Shedrup Ling Monastery)

   หลังจากที่ผ่านการศึกษาพุทธปรัชญาอันเข้มงวดทั้งการภาวนาและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนากับครูบาอาจารย์ที่มีภูมิธรรมขั้นสูงหลายรูป ท่านพักชกก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเคนโป (Khenpo) ซึ่งเทียบเท่าตําแหน่งศาสตราจารย์ในทางโลกในปี พ.ศ. 2545 ณ สถาบันจงซาร์ สาขาพุทธศึกษาขั้นสูง (Dzongsar Institute of Advanced Buddhist Studies) จากประเทศอินเดีย ทุกปีท่านพักชก รินโปเชได้สอนการภาวนาให้กับนักปฏิบัติธรรมทุกระดับทั่วโลก รวมถึงบรรยายธรรม ณ มหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงหลายแหล่งทั้งในทวีปเอเชียและสหรัฐอเมริกา

   ในฐานะครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจเปิดกว้าง ท่านได้เดินทางไกลเพื่อเผยแพร่คำสอนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยด้วยจิตใจที่แน่วแน่เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของพุทธธรรม และเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นในแนวทางปฏิบัติที่ทำได้จริงอันเป็นแก่นพุทธศาสนา ตัวอย่างที่โดดเด่นได้แก่เรื่องของความกรุณา โดยท่านรินโปเชดูแลกิจกรรมอันหลากหลายของทั้งมูลนิธิชกจูร์ ลิงปะ (Chokgyur Lingpa Foundation) และมูลนิธิเบสิก กู๊ดเนส (Basic Goodness Foundation)

   กิจกรรมเหล่านี้ครอบคลุมการสนับสนุนการศึกษาของพระสงฆ์ต่างๆ ในวิทยาลัยสงฆ์, หาทุนให้กับการศึกษาด้านพุทธปรัชญาและการประกอบพิธีกรรมขั้นสูงด้วยการสร้างสายสัมพันธ์กับวัดมากกว่า 300 แห่งในประเทศเนปาล, มอบความช่วยเหลือกับองค์กรทางสังคม, ส่งเสริมการแปลคำสอนอันล้ำค่าที่ไม่ถูกบิดเบือน, รวมถึงให้การสนับสนุนโครงการด้านมนุษยธรรมที่เน้นไปในเรื่องการศึกษา และการส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น

   เมื่อตอนที่น้องชายของท่าน (ยางซี เคนเซ รินโปเช) ได้รับการการพิสูจน์ว่าเป็น ท่านดิลโก้ เคนเซ รินโปเช กลับชาติมาเกิด น้องชายเพียงคนเดียวของท่านจึงได้ถูกถวายให้กับวัดเดิมของท่านดิลโก้ในชาติที่แล้วเพื่อนำไปฝึกฝนเลี้ยงดูในประเทศภูฏาน ทำให้ท่านพักชกต้องแบกภาระในการสืบทอดสายการปฏิบัติชกจูร์ ลิงปะ ซึ่งถ่ายทอดกันทางสายเลือดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกไว้แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุนี้ท่านพักชกจึงจำใจต้องลาสิกขาบทจากการถือศีลของพระมาถือศีลโยคีแทนเพื่อที่จะมีครอบครัวให้สืบทอดสายการปฏิบัติ ชกจูร์ ลิงปะต่อไป